ประวัติวัดแหลมสัก

ประวัติความเป็นมาของวัดแหลมสัก


        ก่อนพุทธศักราช ๒๔๙๖ บ้านแหลมสักเป็นสถานที่เปลี่ยวเวลาชาวบ้านแหลมสักจะประกอบศาสนกิจต้องไปอาศัยการเดินตามคันนาไปยังวัดสมิหลัง (วัดสถิตโพธิ์ธาราม) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๔.๕ กิโลเมตร ขณะนั้นยังไม่มีถนนเชื่อมต่อมายังหมู่บ้าน

        ราวปี ๒๔๙๒ พระอาจารย์อำพัน ธุดงค์จากภาคอีสานมายังบ้านแหลมสักโดยทางเรือและได้พักปักกลดบริเวณที่ตั้งวัดแหลมสักในปัจจุบัน สมัยนั้นเป็นเพียงที่รกร้างว่างเปล่า
เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็มีพากันมากราบไหว้ และนิมนต์ให้ท่านอยู่โปรดชาวบ้านแหลมสัก พระอาจารย์อำพันรับนิมนต์พักอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้ธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดพังงา และภูเก็ต

        ในระยะเวลาที่พระอาจารย์อำพันปักกลดอยู่ที่นี่นั้น ชาวบ้านแหลมสักโดยมี คุณแม่ฉิวเหลียน ธรรมชัยปราการ เป็นผู้นำ และพร้อมด้วยหมู่เพื่อน เช่น คุณแม่นุ้ย บุญลิปตานนท์, คุณแม่โฉ แซ่ขอ, คุณแม่เหลียนหั้ว แซ่ขอ และ คุณแม่ปาน ตั้งพันธ์ หลังจากพระเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้ว จะนำอาหารคาวหวานตามไปถวายยังที่พระอาจารย์อำพันปักกลด พร้อมทั้งนั่งสวดมนต์ และฟังธรรมจากท่านเสมอ จนกลายเป็นประเพณียามเช้าของชาวบ้านแหลมสักจนถึงทุกวันนี้

        หลังจากพระอาจารย์อำพันธุดงค์จากไปประมาณสองปี หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูก้อจ้อ ก็เคยธุดงค์มาพักที่นี่ระยะหนึ่งด้วยเช่นกัน


หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยธุดงค์มาพำนัก ณ วัดแหลมสัก

        ปี ๒๔๙๕ ท่านอาจารย์อาจ และท่านอาจารย์คำผาย ธุดงค์มาจากภาคอีสาน แจ้งความประสงค์กับชาวบ้านแหลมสักว่า จะพักปฏิบัติธรรมที่นี่ระยะหนึ่ง ชาวบ้านแหลมสัก และนายมนู พยุงพันธุ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอ ซึ่งมีสำนักงานในหมู่บ้าน ก็ได้ร่วมกันสร้างเพิงพักสองหลังเป็นที่พักปฏิบัติธรรม จากนั้นได้สร้างโรงฉัน พื้นไม้ หลังคามุงจาก เป็นที่ฉันอาหารและ ที่สวดมนต์ ไหว้พระประกอบศาสนกิจ อาจารย์ทั้งสองรูปจำพรรษาที่นี่ ๒ พรรษา ก็ลาชาวบ้านกลับภาคอีสาน



หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ พระบูรพาจารย์ผู้ริเริ่มสร้างวัดแหลมสัก

        ปลายปี ๒๔๙๗ -๒๕๐๕ พระอาจารย์จันทร์แรม เขมสิริ ได้มาปฏิบัติธรรมและจำพรรษา รวม ๙ พรรษา ระหว่างนั้น พระอาจารย์จันทร์แรม เขมสิริ ท่านได้เป็นหัวเรี่ยว หัวแรง นำชาวบ้านสร้างศาลาเอนกประสงค์ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เสาช่วงล่างเป็นคอนกรีตต่อด้วยเสาไม้ ยกพื้นบนเสาไม้ หลังคามุงสังกะสี กั้นฝาไม้ งบก่อสร้างหนึ่งหมื่นสามพันบาท แล้วเสร็จในปี ๒๕๐๐ จึงตั้งชื่อศาลาว่า “ศาลายี่สิบห้าศตวรรษ”


หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดแหลมสักต่อจากหลวงปู่จันทร์แรม

        ก่อนที่พระอาจารย์จันทร์แรมจะเดินทางกลับภาคอีสาน ท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์เนตร จิรปุญโญ และพระอาจารย์สงวน เป็นผู้ดูแลที่พักสงฆ์แหลมสักแห่งนี้แทนท่านต่อไป และในช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๐๕ มีพระจำพรรษา ๒ รูป คือ พระอาจารย์เนตร จิรปุญโญ และพระอาจารย์เอียน ฐิตวิริโย


หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย ศิษย์ในหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งได้มาอยู่พำนัก ณ วัดแหลมสักในรุ่นบุกเบิก


        ในปี ๒๕๑๐ นายพุก กฤษเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ในสมัยนั้นได้สั่งการทำถนนลูกรังจากอำเภออ่าวลึกเข้ามายังหมู่บ้านแหลมสัก ทำให้การเดินทางของชาวบ้านในอดีตต้องอาศัยทางเรือและเดินเท้าเท่านั้นได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้พระภิกษุเดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ.ที่พักสงฆ์แหลมสัก ซึ่งท่านอาจารย์เนตร ยังคงเป็นผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง

        พ.ศ. ๒๕๒๗ พระอาจารย์เนตร และชาวบ้านแหลมสัก ได้ทำหนังสือขออนุญาตสร้างวัดถึงกรมศาสนา ซึ่งได้รับอนุมัติให้สร้างวัดได้ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เนื่องจากวัดไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง จึงได้ทำหนังสือขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ เป็นที่ตั้งวัดในพื้นที่ ๑๒ ไร่จากกระทรวงมหาดไทย ทางกระทรวงได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินตามความประสงค์

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ กระทรวงศึกษาธิการได้ขึ้นทะเบียนยกฐานะสำนักสงฆ์แหลมสักเป็นวัดแหลมสัก โดยมีพระอาจารย์เนตร จิรปุญโญ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

        ในปี ๒๕๓๐ พระอาจารย์เนตร และชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่แทนหลังเดิม โดยว่าจ้างผู้รับเหมาจากจังหวัดภูเก็ตมาทำการก่อสร้างด้วยงบ ๕๔๒,๗๐๐ บาท ศาลาอเนกประสงค์หลังนี้ ได้กลายมาเป็นพระอุโบสถของวัดแหลมสักในปัจจุบัน

ช่วงเวลาดังกล่าว ครอบครัวเอกไพบูลย์ โดยเฉพาะ นางเพ็ญพรรณ เอกไพบูลย์ ได้เป็นผู้นำฝ่ายคฤหัสถ์เข้ามาอุปถัมภ์ดูแลวัดแหลมสักสืบต่อจากญาติโยมรุ่นก่อน ได้ร่วมกันสร้างเสนาสนะเพิ่ม เติม เช่น สร้างกุฏิสงฆ์ให้เพียงพอ สร้างกุฏิเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ และโรงครัว

        ปี ๒๕๔๐ วัดแหลมสัก ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระราชทานเมื่อวันที่๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐

ตลอดระยะเวลาที่พระอาจารย์เนตร จิรปุญโญ เป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมสัก ท่านได้เมตตาสละปัจจัยส่วนตัว สร้างสาธารณประโยชน์แก่ชาวบ้านแหลมสักมาโดยตลอด เช่น บริจาคเงินซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโรงอาหาร โรงเรียนบ้านแหลมสัก, ซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลอ่าวลึก เป็นเงินเกือบหนึ่งแสนบาท, จัดทอดกฐินรวบรวมเงินสร้างตึกสงฆ์ของสมเด็จพระสังฆราช ณ โรงพยาบาลอ่าวลึก เป็นเงินเกือบหกแสนบาท, ช่วยค่าเดินทางสำหรับภิกษุที่เดินทางมาจากภาคต่างๆ เพื่อมาปฏิบัติธรรม หรือ ค่าเครื่องบินในกรณีเร่งด่วน, บริจาคเงินให้แก่ชุมชนมุสลิม เมื่อมีงานบุญโดยไม่แยกพวก ถือเราถือเขา หรือผู้นับถือศาสนาอิสลามเจ็บไข้ได้ป่วยมาขออนุเคราะห์ปัจจัยพระอาจารย์เนตรท่านก็เมตตาช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ
ในปี ๒๕๔๒ พระชูศักดิ์ ปัญญาสักโก มาอุปสมบทที่วัดแหลมสัก ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๙ หลวงปู่เนตรได้สละตำแน่งเจ้าอาวาส เนื่องจากมีอายุมาก และได้มอบภาระการดูแลวัดให้แก่พระชูศักดิ์ ปัญญาสักโก เป็นผู้รักษาการแทน จนกระทั่งปี ๒๕๕๐ พระอาจารย์ชูศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส

 


พระอาจารย์ชูศักดิ์ ปัญญาสักโก เจ้าอาวาสวัดแหลมสักรูปปัจจุบัน


        พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงปู่เนตร เห็นว่าศาลาหลังเก่าเริ่มคับแคบ เนื่องจากญาติโยมเข้ามาทำบุญและปฏิบัติธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน ท่านจึงได้ให้ก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ที่มีความกว้าง ๑๖ เมตร ความยาว ๒๕ เมตร เพื่อรองรับญาติโยมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การก่อสร้างศาลาเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๕๐