ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา การก่อสร้างพระเจดีย์วัดแหลมสัก

      เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานพระบรมสารีริกธาตุแก่วัดแหลมสักจำนวน ๑๒ องค์ คณะสงฆ์และคณะกรรมการวัดแหลมสัก จึงดำริจัดสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุความกว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๔๕ เมตร และสูง ๔๐ เมตร เริ่มต้นก่อสร้างในวันวิสาขบูชา ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์ในการสร้างเจดีย์ นอกจากสืบทอดแนวปฏิบัติที่ได้ทำกันมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว เจดีย์บรรจุพระบรมสีริกธาตุวัดแหลมสัก ยังคงมีวาระอันเป็นมงคลอีกสามประการคือ

๑. เป็นการเฉลิมพระเกียรติครบ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในปี ๒๕๕๘

๒. ฉลองวันเกิดครบรอบ ๙๐ ปี ของหลวงปู่เนตร จิรปุญโญ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘

๓. เป็นศาสนวัตถุที่จะเป็นหลักฐานแสดงถึงการประดิษฐานของพระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ด้านทะเลอันดามัน คาบสมุทรอินเดีย

        เนื่องด้วยภาคใต้ฝั่งตะวันออก ด้านอ่าวไทย คาบสมุทรแปซิฟิก ได้มีพระธาตุที่แสดงถึงความเจริญของพระบวรพุทธศาสนามาแต่ในอดีตแล้ว เช่น พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี และพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังไม่มีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่จะเป็นเอกสารด้านวัตถุในอนาคตกาล อันจะแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะธรรมยุตินิกาย ที่มีพ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ เช่น พระมหาปิ่น ชลิโต, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่หล้า เขมปัตโต,หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ ฯลฯ ได้เดินทางมาเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ในแถบนี้ เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุวัดแหลมสัก ลักษณะของตัวองค์เจดีย์ เป็นฐานเขียงยกระดับขึ้นมา ใช้รูปแบบเจดีย์ทรงลังกาเป็นต้นเค้าความคิด อันเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และนำมาพัฒนาแนวความคิดที่จะให้องค์เจดีย์ดูเรียบง่ายและดูทันสมัย รวมทั้งเครื่องลำยองที่เลือกใช้เป็นในลักษณะที่มีความเรียบง่ายดูทันสมัยและดูแลรักษาได้ เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับองค์ประกอบโดยรวมของทางวัด มีศาลารายล้อมอยู่ มีทางขึ้น ๑ ทาง ตำแหน่งที่ตั้งตามแนวแกนของพระอุโบสถ โดยทางขึ้นด้านหน้าพระเจดีย์มีซุ้มทางเข้าอยู่ และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนได้ เจดีย์แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น ๒ ชั้น ชั้นลานประทักษิณและพื้นที่ด้านในองค์พระเจดีย์ เจดีย์ประธานประดิษฐานบนฐาน ๘ เหลี่ยม สื่อถึงพระบรมโพธิสมภารแผ่ไพศาลไปทั่ว ๘ ทิศ พระเจดีย์เป็นสีขาว ให้รู้สึกถึงความเบาสบาย

        ภายในห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ออกแบบให้จุดศูนย์กลางของห้องประดิษฐานบุษบก มีการบรรจุพระสารีริกธาตุ มีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาสักการะ รู้สึกสัมผัสถึงถึงความเงียบสงบของพระเจดีย์ บริเวณรอบชั้นในสุดของบุษบกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะประดิษฐานพระอรหันต์ธาตุ และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ทั้งสี่ทิศ ชั้นนอกออกมาจะประดิษฐานรูปเหมือนบุรพจารย์สายธรรมยุตินิกาย เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ ทั้งสี่มุมภายในห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จะมีการจัดวางอัฏฐบริขารของบุรพจารย์ เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ ผนังภายในห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้งสี่ด้าน จะประดิษฐานภาพถ่ายและหลักธรรมคำสอนของบุรพจารย์สายธรรมยุตินิกาย เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ การตกแต่งภายในห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจะเป็นการตกแต่งด้วยศิลปะยุคศรีวิชัย อันเป็นการสะท้อนความรุ่งเรืองพุทธศาสนาในภาคใต้ตั้งแต่โบราณกาล และเป็นการอนุรักษ์ศิลปะตลอดจนพุทธศิลป์ยุคศรีวิชัยให้พุทธศาสนิกชนยุคปัจจุบันและอนาคตได้เห็นถึงภูมิปัญญาของงานศิลปะในแถบภาคใต้ที่รุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน

รายละเอียดของพระมหาธาตุเจดีย์

        พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างxยาวxสูง 45x45x40เมตร มีศาลารายล้อมอยู่ มีทางขึ้น 1 ทาง ตำแหน่งที่ตั้งตามแนวแกนของพระอุโบสถ โดยทางขึ้นด้านหน้าพระเจดีย์มีซุ้มทางเข้าอยู่และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนได้ พระเจดีย์แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 2 ชั้นรอบพระเจดีย์ โดยมีชั้นลานประทักษิณและพื้นที่ด้านในองค์พระเจดีย์ที่จะประดิษฐานพระพุทธรูป บนสุดของเจดีย์เป็นห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีซุ้มจรณัมทั้ง ๔ ทิศ

        พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นอาคารที่มีรูปแบบการใช้สอยใน ลักษณะ กล่าวคือ ใช้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถสักการะพระบรมสารีริกธาตุได้อย่างใกล้ชิด ลักษณะของตัวองค์เจดีย์ เป็นฐานเขียงยกระดับขึ้นมา ใช้รูปแบบเจดีย์ทรงลังกาเป็นต้นเค้าความคิด อันเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นองค์สถาปนาธรรมยุตินิกาย และนำมาพัฒนาแนวความคิดที่จะให้องค์เจดีย์ดูเรียบง่ายและดูทันสมัย รวมทั้งเครื่องลำยองที่เลือกใช้เป็นในลักษณะที่มีความเรียบง่ายดูทันสมัยและดูแลรักษาได้ เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับองค์ประกอบโดยรวมของทางวัด องค์เจดีย์นั้นมี ซุ้มจรณัม ๔ องค์ เจดีย์ประธานประดิษฐานบนฐาน ๘ เหลี่ยม สื่อถึงพระบรมโพธิสมภารแผ่ไพศาลไปทั่ว ๘ ทิศ พระเจดีย์เป็นสีขาว เป็นให้รู้สึกถึงความเบาสบาย ไม่ใช้ซุ้มหน้าต่างที่มีการประดับตกแต่งมาก เลือกใช้เพียงกรอบเช็ดหน้าประดับด้วยลูกกรงภายนอกเพื่อความปลอดภัยของวัตถุจัดแสดงไปพร้อมกัน มีการประดับตกแต่งขององค์ประกอบองค์เจดีย์ประธานที่ต้องเน้นความสำคัญเท่านั้น การตกแต่งภายในห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ออกแบบให้จุดศูนย์กลางของห้องประดิษฐานบุษบก มีการบรรจุพระสารีริกธาตุ มีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาสักการะ รู้สึกระลึกถึงความเงียบสงบของพระเจดีย์